โลโก้เว็บไซต์ กสศ. ทำสัญญามอบ“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” แก่เด็กช้างเผือก มทร.ล้านนา 3 ราย สนับสนุนทุนเรียนต่อ ตรี  โท เอก ตอบโจทย์ประเทศ  S-Curve New S-Curve STEM | สภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

กสศ. ทำสัญญามอบ“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” แก่เด็กช้างเผือก มทร.ล้านนา 3 ราย สนับสนุนทุนเรียนต่อ ตรี โท เอก ตอบโจทย์ประเทศ S-Curve New S-Curve STEM

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 8 มิถุนายน 2563 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 6192 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

              เมื่อวันที่ 6-7 มิถุนายน พ.ศ.2563 รศ.ดร.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา พร้อมด้วย ดร.กิจจา ไชยทนุ คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.สุนทร วิทยาคุณ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ผศ.นิศรา จันทร์เจริญสุข คณบดีคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ และผู้บริหาร คณาจารย์เจ้าหน้าที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมให้การต้อนรับการลงพื้นที่ปฏิบัติงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยคุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. ผศ.ดร.ปานเพชร ชินนทร ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. รศ.ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ และ อาจารย์อินทร์ธิรา คำภีระ ผู้ทรงคุณวุฒิ มจธ. รวมทั้งนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ กสศ. โดยในโอกาสนี้ได้ลงนามในการทำสัญญาทุนโครงการ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” (ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ) และหารือแนวทางการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อยกระดับการทำงานโครงการทุน สำหรับมทร.ล้านนา ซึ่งมีนักศึกษาจำนวน 3 รายที่ได้รับทุนในปีการศึกษา 2563 (จากจำนวน 13 รายของผู้รับทุนทั้งประเทศ) ได้แก่ นายพงศธร จันทร์ต๊ะ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบควบคุมอัตโนมัติ นางสาวภัทรรียา  แซ่คำ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และ นายศิระวัฒน์  บุญกิจ นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พร้อมผู้ปกครองของนักศึกษาทั้ง 3 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมและลงนามในสัญญาร่วมกัน

             โครงการ“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” (ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ) เป็นทุนส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของ กสศ. เพื่อค้นหาคัดเลือกพัฒนาเด็กเยาวชนที่เรียกว่า ‘เด็กช้างเผือก’ ที่มาจากพื้นฐานสายอาชีพให้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือเปิดโอกาสปฏิรูปให้เด็กที่ยากจนที่สุดร้อยละ 20 คนแรกของประเทศได้เรียนต่อสูงขึ้น โดยทุนนี้สนับสนุนกำลังคนสายอาชีพที่มีศักยภาพให้ศึกษาต่อปริญญาตรี โท เอก ในสาขาที่ตอบโจทย์ประเทศ  S-Curve New S-Curve STEM  และดิจิทัล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และยังสร้างโอกาศ และอนาคตสำหรับนักศึกษาที่มีศักยภาพแต่ด้อยโอกาศ หรือมีความยากจน โดยได้มีการเปิดรับสมัครในปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดยจากการประชุมหารือ กสศ. ได้ให้ข้อมูลในการรับสมัครรุ่นต่อไปในปีการศึกษา 2564 และได้ตอบข้อซักถามเรื่องกฏเกณฑ์ ข้อมูลของทุน โดยได้เชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ทาง มทร.ล้านนา ได้ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการเพื่อเปิดโอกาศและพัฒนานักศึกษาที่มีศักยภาพต่อไปในอนาคต

             ส่วนในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมหารือโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และหารือแนวทางการทำงานร่วมกับสถานศึกษาเพื่อยกระดับการทำงานโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยมีคณาจารย์จาก 5 วิทยาลัยเข้าร่วมได้แก่ วษท.เชียงใหม่, วท.เชียงใหม่,ว.อาชีวศึกษาจันทร์รวี, วษท.ลำพูน และ วท.ลำพูน รวมจำนวน 10 คน รวมทั้งคณาจารย์จากมทร.ล้านนา ที่มีส่วนร่วมในโครงการจากพื้นที่ตาก น่าน และเชียงราย เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

 

ขอบคุณข้อมูล/ ภาพ จาก ผศ.ดร.ฐิติพร พันธุ์ท่าช้าง ผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา