โลโก้เว็บไซต์ องคมนตรีประชุมหารือความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  และร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาระบบ BIG DATA ของมูลนิธิโครงการหลวง | สภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

องคมนตรีประชุมหารือความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาระบบ BIG DATA ของมูลนิธิโครงการหลวง

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 11 พฤศจิกายน 2564 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 5994 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

             วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมโพธิพุทธ ชั้น 4 อาคารเรียนรวมและศูนย์พัฒนาเทคโนโลยี เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาล้านนา คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (เจ็ดยอด) จ.เชียงใหม่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปปฏิบัติภารกิจมูลนิธิโครงการหลวงที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมหารือความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการ โดยมี ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา  รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวต้อนรับโดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ร่วมให้การต้อนรับ และในโอกาสนี้รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาติ หาญวงษา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษกล่าวรายงานผลการดำเนินงานในส่วนความร่วมมือของมหาวิทยาลัยร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง และผศ.เกรียงไกร ธารพรศรี ผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน นำเข้าสู่การหารือความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการและด้านอื่นๆ ระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในระยะต่อไป (ปี พ.ศ. 2566-2570)ร่วมกับดร.อัญชัญ ชมภูพวง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวงเชียงใหม่

           มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิโครงการหลวงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวง และกิจกรรมวิชาการภายใต้แผนงานด้านพลังงาน วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนระบบเกษตรกรรม”  โดยคณาจารย์อาสาสมัครได้ทำงานถวายในการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่มีความจำเพาะ วิศวกรรมการพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม จากความร่วมมือได้นำมาสู่การสร้างผลงานและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัยและมูลนิธิโครงการหลวงได้ร่วมกันหารือโดยมีกรอบความร่วมมือต่อเนื่อง คือ การวิจัย พัฒนา ออกแบบงานหัตถกรรมชนเผ่าร่วมสมัย รวมถึงดำเนินการวิจัยด้านการตลาดเพื่อยกระดับหัตถกรรมชนเผ่า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบเกษตรอัจฉริยะ การวิจัยด้านแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในระดับชุมชน อาทิ กาแฟ ไม้ผล เขตหนาว ปศุสัตว์ เช่น นมกระบือ นมแพะ การพัฒนาต้นแบบเครื่องจักรกลขนาดเล็กที่พัฒนาจากระดับห้องปฏิบัติการ สู่การทดสอบในระดับนำร่อง การวิจัยระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ และการเข้าถึงข้อมูล ขนาดใหญ่ หรือ BIG DATA  รวมทั้งยังมีความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรของโครงการหลวงในงานหัตถกรรมที่ครบวงจร เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ศิลปหัตถกรรมชนเผ่าให้ยั่งยืน สนับสนุนการขับเคลื่อนสถาบันการเรียนรู้ และศูนย์การเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ยกระดับชุมชนต้นแบบด้านหัตถกรรม เตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต 

          พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวให้ข้อแนะนำในที่ประชุมครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หากมองถึงความเชี่ยวชาญแล้วก็อยากให้เข้าไปช่วยเหลือในด้านหัตถกรรมคือจะทำอย่างไรที่จะสามารถยกระดับงานหัตถกรรมชนเผ่าให้มีความทันสมัยและเป็นที่ยอมรับในท้องตลาดซึ่งมหาวิทยาลัยเองมีเก่งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ทั้งเรื่อง smart farm ซึ่งจะทำอย่างไรที่นำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปช่วยชาวบ้าน ทำให้เข้าสามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้นแต่ทำงานหนื่อยน้อยลง สามารถนำไปแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด รักชุมชนที่อยู่อาศัยไม่แปรเปลี่ยนสถานที่ทำกินไปเป็นอย่างอื่น และยังสามารถส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปยังลูกหลานได้ต่อไป

                ในการทำงานในส่วนของโครงการหลวงนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงให้แนวทางในการทำงานแก่พวกเราว่า เราต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ.2512 เป็นต้นมา มูลนิธิโครงการได้เข้าไปมีส่วนในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดียิ่งขึ้น และในรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงให้แนวทางการทำงานคือการสืบสาน รักษาและต่อยอด จึงอยากให้มหาวิทยาลัยในฐานะของสถาบันการศึกษาที่มีปณิธานในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนได้ร่วมดำเนินการและช่วยกันพัฒนากิจกรรมของมูลนิธิโครงการหลวงในส่วนที่จะไปสู่การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป”

         ในโอกาสนี้พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้เยี่ยมชมผลงานวิชาการที่สนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวง  โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำมาจัดแสดง ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบคลังข้อมูลขนาดใหญ่พร้อมต้นแบบโปรแกรมการบริหารด้านเศรษฐกิจเพื่อการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง (BIG DATA) การพัฒนาศักยภาพด้านการทอผ้ากะเหรี่ยงด้วยกี่ทอเอวกึ่งอัตโนมัติ  โครงการพัฒนาและทดสอบเครื่องมือสำหรับลดการใช้แรงงานและเพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูกดอกไฮเดรนเยีย โครงการพัฒนาทักษะการใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม และกําจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตงานหัตถกรรมด้าน การออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โครงการยกระดับกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกาแฟอาราบิก้าและสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรในมูลนิธิโครงการหลวงและชุมชน โครงการพัฒนาเทคโนโลยีและยกระดับกระบวนการที่เหมาะสมสําหรับการสกัด น้ํามันหอมระเหย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ โครงการยกระดับกระบวนการผลิตและพัฒนากลุ่มปงยั้งม้า ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงห้วยเสี้ยวสู่วิสาหกิจชุมชน

 

 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา