โลโก้เว็บไซต์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประจำปีการศึกษา 2562  | สภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประจำปีการศึกษา 2562

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 16 สิงหาคม 2565 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 11472 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

         วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 09.32 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประจำปีการศึกษา 2562 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีพร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ

           การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ทรงประทับพระราชอาสน์     ผู้แทนนักศึกษา เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร จากนั้นพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562 โดยในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์และวิทยาลัยเทคโนโลยี  และสหวิทยาการ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 1,462 ราย พระราชทานเหรียญเกียรตินิยมแก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นจำนวน 11 ราย บัณฑิตกล่าวคำปฏิญาณ จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทาน พระราโชวาท เสด็จพระราชดำเนินกลับ

            มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท ปริญญาตรีและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ใน 4 คณะและ 1 วิทยาลัย โดยพื้นที่จัดการศึกษาครอบคลุมภาคเหนือตอนบนได้แก่ เชียงใหม่  เชียงราย ลำปาง น่าน ตากและพิษณุโลก มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถในด้านวิชาชีพเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานเพื่อให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เน้นจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับการทำงานมีวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อชุมชน โดยการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ถ่ายทอดลงสู่สังคม ชุมชน เชื่อมโยงไปสู่การเรียนการสอนการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยได้มีการขยายเครือข่ายการศึกษาไปยังนานาประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนวิชาการ ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ

          โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “บัณฑิตทั้งหลายได้รับความสำเร็จในการศึกษาแล้ว เมื่อออกไปประกอบอาชีพการงานย่อมปรารถนาความสำเร็จเช่นเดียวกัน. การที่จะได้รับความสำเร็จในอาชีพการงานนั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือการกำหนดเป้าหมายในการทำงานให้เหมาะสม ไม่ตั้งเป้าหมายที่สูงหรือต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง. ทั้งนี้ เพราะการตั้งเป้าหมายในการทำงาน ที่เกินความรู้ความสามารถและความถนัดไปมาก อาจทำให้คนเราเกิดความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ จนล้มเลิกไปเสียกลางคัน ไม่อาจทำงานให้บรรลุถึงความสำเร็จได้ ส่วนการตั้งเป้าหมายที่ต่ำเกินไป ก็อาจทำให้นิ่งนอนใจและประมาท จนไม่สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จที่สูงขึ้นได้เท่าที่ควรจะเป็น.  แต่ละคนจึงต้องพิจารณาสำรวจตนเองตามเป็นจริง แล้วตั้งเป้าหมายให้พอเหมาะพอดีกับศักยภาพและพื้นฐานที่มีอยู่. จากนั้นก็กำหนดวิธีการ และขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แล้วลงมือปฏิบัติให้ตลอดต่อเนื่อง ด้วยความอุตสาหะอดทน. เมื่อประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จริงแล้วแต่ละคนก็จะมีศักยภาพสูงขึ้น จนสามารถตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นได้ตามลำดับ. จึงขอให้บัณฑิตนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาปรับใช้ เพื่อประโยชน์ในการทำงานสร้างสรรค์ความสำเร็จต่อไป.

         ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคนและผู้มาร่วมในพิธีนี้ทุกท่าน มีความสุขความเจริญทุกประการทั่วกัน.”

 (คลิก!! ชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)

 



คลังรูปภาพ : 16 สค65






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา