เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 25 สิงหาคม 2565 โดย นคร คำกิติ จำนวนผู้เข้าชม 3415 คน
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ หัวหน้าสาขาสัตวศาสตร์และประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน พร้อมด้วยทีมคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ ลงพื้นที่ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ในโครงการ ทัศนศึกษาระหว่างประเทศเสมือนจริงเพื่อใช้ในการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ (Virtual Overseas Field Trips for Geography Teaching and Learning) ในหัวข้อ “การท่องเที่ยวโดยชุมชนและการสร้างความยั่งยืน ของพื้นที่ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน” ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม 2565 ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะนักวิจัยได้หารือร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของตำบลบ่อเกลือใต้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอจุดเริ่มต้น จุดเด่นและเอกลักษณ์ของการท่องเที่ยวบ่อเกลือใต้ ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นายประสิทธิ์ อุปจักร์ นายกเทศมนตรีตำบลบ่อเกลือใต้ กล่าวถึงจุดเด่นของทรัพยากรท่องเที่ยวในพื้นที่บ่อเกลือใต้ว่า นอกจากบ่อเกลือใต้จะมีแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์แล้ว ยังมีภูมิทัศน์และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรกรรมและวัฒนธรรมที่โดดเด่น โดยทางเทศบาลได้สนับสนุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและการนำเสนอจุดท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เป็นจุดท่องเที่ยวหลัก ทั้งยังช่วยในการกระจายรายได้สู่ชุมชนมากขึ้น
ดร.ทวน อุปจักร์ และ ท่านกำนันตำบลบ่อเกลือใต้ พูดคุยถึงที่มาของจุดเริ่มต้นที่คนภายนอกรู้จักบ่อเกลือใต้มาจากการมีบ่อเกลือสินเธาว์ ซึ่งท่านผู้ใหญ่สาโรจน์ อุปจักร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กล่าวเสริมว่าบ่อเกลือสินเธาว์ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและเป็นที่รู้จักว่าเป็นหมู่บ้านต้มเกลือ มีการใช้เกลือเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับภายนอกและใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทั้งนี้ ดร.ทวน และท่านกำนัน กล่าวว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้การท่องเที่ยวในบ่อเกลือใต้เป็นที่รู้จักมากขึ้น น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีการสร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในบ่อเกลือใต้เป็นครั้งแรก จากนั้นบ่อเกลือใต้ค่อยๆ พัฒนาจนเป็นที่รู้จักผ่านสื่อต่าง ๆ ด้วยความโดดเด่นด้านสภาพอากาศ ธรรมชาติที่สมบูรณ์ รวมทั้งวัฒนธรรม และเกษตรกรรม ทั้งยังมีทุ่งข้าวสีที่ปลูกเป็นแห่งแรกในจังหวัดน่าน ทั้งสองท่านยังเห็นว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวบ่อเกลือใต้จำเป็นต้องมีการวางแผนจากหลายภาคส่วนและไม่ควรเน้นปริมาณมากจนเกินขีดความสามารถที่ตำบลจะรองรับได้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อีกทั้งยังนำเสนอแผนการท่องเที่ยวที่เน้นความบ่อเกลือใต้ สภาพอากาศและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ควบคู่กับอาหารที่ปลอดภัย จะช่วยส่งเสริมให้บ่อเกลือใต้เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น
จากการพูดคุยกับทุกภาคส่วน เห็นตรงกันว่า การท่องเที่ยวควรเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของชุมชนจากคนในชุมชน ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว และต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน และมีจัดระบบการท่องเที่ยวที่เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เคารพกฎระเบียบของชุมชนและลดผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศให้มากที่สุดซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนต่อไป นอกจากนั้นการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ยังเป็นการเชื่อมโยงกับโครงการ/กิจกรรม การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามธรรมชาติและการพัฒนานวัตกรรมบ่อดินปั้นเพื่อกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่จังหวัดน่าน ในพื้นที่ขยายผล อำเภอบ่อเกลือใต้ จังหวัดน่าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และเครือข่ายบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ในบริบท“ชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง”
ขอขอบคุณ ภาพ / ข่าว : ที่นี่เมืองน่าน
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา